Thursday, June 18, 2009

จิตชั่วลัดนิ้วมือเดียว : อีกมิติหนึ่งของสุนทรียภาพในภาพยนตร์

จิตชั่วลัดนิ้วมือเดียว : อีกมิติหนึ่งของสุนทรียภาพในภาพยนตร์
รศ.รักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

บางคนกล่าวว่าเป้าหมายของสุนทรียศาสตร์อยู่ที่การเกิดคุณค่าทางสติปัญญา (intellectual value) ในตัวเรา บางคนบอกว่าอยู่ที่ความรู้สึกดีงาม ความอิ่มเอมในในอารมณ์ เป็นการยกระดับจิตใจของมนุษย์ให้สูงขึ้นทั้งทางระดับสติปัญญาและจิตใจ ไม่ใฝ่ต่ำ นับเป็นคุณค่าสูงส่งของมนุษย์ ที่ไม่ได้ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม
ศิลปะทุกแขนงจรรโลงจิตใจมนุษย์มานานนับพันปี จวบจนปัจจุบันภาพยนตร์ซึ่งเป็นทั้งสื่อและศิลปะแขนงใหม่ ไม่ต่างจากศิลปะแขนงอื่นๆ ที่นอกจากจรรโลงจิตใจของคน สามารถเข้าถึงได้ทุกชนชั้นทั้งระดับโลกียะและโลกุตระแล้ว ภาพยนตร์ยังสร้างจินตนาการของมนุษย์ให้เป็นรูปธรรมได้ ดังเช่นภาพยนตร์ในอดีตหลายเรื่องตั้งแต่ A Trip to the Moon (1902) จนถึง Star Wars (1977) ในปัจจุบัน ในที่สุดมนุษย์ก็สามารถเดินทางไปดวงจันทร์ พร้อมทั้งโครงการ Star Wars ก็เป็นความจริงในสมัยของประธานาธิบดี Ronald Reagan และหากมนุษย์จะเดินทางย้อนเวลาไปสู่อดีตก็อาจไม่ใช่เรื่องเหลวไหลอีกต่อไป อีกทั้งยังมีหลายทฤษฎีที่คอยสนับสนุนความคิดจินตนาการของมนุษย์นี้ ซึ่งจะค่อยๆร้อยเรียงลำดับดังนี้

เวลาและพื้นที่ว่าง (Time and Space)

“เวลา” เป็นสิ่งที่คนเราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี หากให้เราหาคำจำกัดความว่าเวลาคืออะไร มีลักษณะอย่างไร มีอยู่ก่อนมนุษย์หรือมนุษย์เป็นผู้กำหนดขึ้น คำถามเหล่านี้ฟังดูเหมือนง่ายแต่ตอบยากเพราะเวลาเป็นนามธรรม อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่สามารถบอกความเป็นเวลาได้ คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการเห็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย เช่น เรานั่งรอฝนตกตั้งแต่เริ่มตกจนกระทั่งฝนหยุด หรือเห็นลูกเติบโตจนเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ก็ดี ของสสารก็ดีเป็นเครื่องบ่งบอกเวลาที่ผ่านไป จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับช่วงความยาวนานที่แตกต่างกัน หรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “Duration” นักปรัชญาวิทยาศาสตร์อย่างเช่น Isaac Newton (1686 – 1713) ได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับ เวลาและพื้นที่ว่าง ไว้อย่างน่าสนใจในบทความเรื่อง Mathematic principles of Natural Philosophy ว่า เวลา แบ่งออกเป็นเวลาสัมบูรณ์หรือเวลาที่แท้จริง หมายถึงเวลาที่เดินอย่างสม่ำเสมอเที่ยงตรงมิได้มีความสัมพันธ์กับสิ่งภายนอกใดๆ และเวลาสัมพันธ์ หมายถึง เวลาทั่วๆไปที่โลกไปสัมพันธ์กับสิ่งภายนอกอื่นๆ เช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ โดยใช้การโคจรหรือการเคลื่อนที่มาสัมพันธ์กันแล้วกำหนดความยาวนานออกมาเป็นหน่วยของเวลา ได้แก่ วินาที นาที ชั่วโมง วัน เดือน ปี เป็นต้น
เวลาและพื้นที่ว่าง (space) เป็นของคู่กันมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน Newton ได้อธิบายเรื่องของพื้นที่ว่างไว้เหมือนกับเรื่องของเวลาคือ พื้นที่แบ่งออกเป็นพื้นที่ว่างสัมบูรณ์ หมายถึงพื้นที่ว่างในอวกาศเป็นอิสระไม่สัมพันธ์กับสิ่งใด มีลักษณะคงที่เหมือนเดิม เคลื่อนที่ไม่ได้ ส่วนพื้นที่สัมพัทธ์ คือพื้นที่ว่างที่สัมพันธ์กับสิ่งภายนอกสามารถเคลื่อนที่ได้ เช่นพื้นที่ว่างในห้องสัมพัทธ์กับผนัง เพดาน พื้น ที่มีขอบเขตชัดเจนสามารถอ้างอิงได้
ทั้งเวลาและพื้นที่ว่าง ยังมีความเกี่ยวข้องกับ สถานที่ (Place) และการเคลื่อนไหว (Motion) กล่าวคือสถานที่เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ว่างที่มีมวลสารเข้าไปยึดครองและอยู่ภายในทั้งหมด สถานที่สัมบูรณ์เคลื่อนที่ไม่ได้ แต่สถานที่สัมพัทธ์เคลื่อนที่ได้เพราะไปอ้างอิงหรือวัดกับสิ่งภายนอก ส่วนการเคลื่อนไหวคือ มวลสารสามารถย้ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง มีทั้งการเคลื่อนที่สัมบูรณ์หรือการเคลื่อนที่ที่แท้จริง กับการเคลื่อนที่สัมพัทธ์ซึ่งมวลสารของทั้งสองเคลื่อนที่ไปด้วยกัน ดังนั้น เวลา จึงเป็นปรากฏการณ์การเคลื่อนที่ของพื้นที่ว่าง สถานที่ และมวลสาร อย่างมีสัมพันธภาพ เช่นเรือเดินทะเลแล่นไปทางทิศตะวันตกอธิบายได้ว่าสถานที่ในเรือซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเรือและของพื้นที่ว่าง มีมวลสารได้แก่คนที่เข้าไปยึดครองอยู่ภายในเรือเคลื่อนที่ไปพร้อมกับเรือซึ่งในความเป็นจริงแล้วเรืออาจแล่นอยู่กับที่เหมือนแล่นบนสายพานแต่โลกหมุนไปทางทิศตะวันออก ท่าจอดเรือกำลังเคลื่อนเข้าหาเรือขณะเดียวกันหากโลกหยุดนิ่งจะเป็นการเคลื่อนที่สัมบูรณ์ของเรือ ซึ่งหมายถึงเรือเคลื่อนที่จากสถานที่สัมบูรณ์หนึ่งไปสู่อีกสถานที่สมบูรณ์หนึ่ง
เหตุที่อธิบายเรื่องเวลาและพื้นที่ว่างมากมายเพราะต้องการแสดงให้เห็นอัจฉริยภาพของ Newton นักวิทยปรัชญาตะวันตกในศตวรรษที่ 17 ที่อธิบายเรื่องของเวลาและพื้นที่ว่างให้เข้าใจและทั้งสองประการนึ้คือปัจจัยสำคัญที่เราจะใช้เดินทางข้ามมิติแห่งเวลาไปดูอดีตและอนาคตได้ แต่อย่างไรก็ตามต่างก็มีนักปรัชญาหลายคนได้กล่าวถึงเวลาไว้มากมายเช่น
William Shakespeare ได้กล่าวถึงเวลา ในเรื่อง As You Like It องก์ที่ 3 ว่า “Time travels in divers paces with divers persons. I’ll you who Time ambles withal, and who Time trots withal, who Time gallops withal, and who he stands still withal.” ซึ่งหมายถึงว่าเวลาที่ผ่านไปของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนช้า บางคนเร็ว บางคนหยุดนิ่ง และ John Locke (1632 – 1704) นักปรัชญาประจักษ์นิยม ชาวอังกฤษได้วิเคราะห์เรื่องเวลา เอาไว้ในหนังสือ An Essay Concerning Human Understand ซึ่งแปลโดย ดร.สมพร พรหมทา ว่า เวลาเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นในความคิดด้วยการจัดลำดับของเหตุการณ์ที่ตัวเองรับรู้เวลาจึงเป็นเพียงแค่เหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาสู่การรับรู้ของคนเรา เช่นหลังจากที่เรียนหนังสือเหนื่อยมาทั้งวันจึงนัดเพื่อนไปดูหนังในวันพรุ่งนี้ทัศนะของ John Locke จึงมีเพียงเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบันและอนาคตที่จัดลำดับไว้แล้ว ถ้าเอกภพนี้ว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตก็ไม่มี นั่นคือไม่มีเวลาแต่ตรงกันข้ามเวลามีขึ้นเพราะเอกภพนี้มีสิ่งต่างๆ และสิ่งเหล่านี้เข้ามาสู่การรับรู้ของมนุษย์ต่างวาระกันจึงเรียกว่า เวลา ส่วนเวลาในแนวพุทธศาสนาคือ ความว่างเปล่า มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นกำหนดให้เป็น ชั่วโมง วัน เดือน ปี คล้ายกับจินตนาการของมนุษย์ที่สร้าง ภาพครุฑ กินรี ขึ้นแต่ไม่มีตัวตนจริงเช่นเดียวกับการกำหนด หน่วยเป็น ชั่วโมง วัน เดือน ปี

การรับรู้ (perception)

การรับรู้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์เกิดสุนทรียภาพขึ้น แต่กระบวนการที่คนเราสามารถรับรู้ได้อย่างไร ยังเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่ ในทางจิตวิทยาเห็นว่าเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกันระหว่างโลกกายภาพหรือโลกภายนอกส่วนหนึ่งและการรู้สึกตัว (Awareness) ของเราอีกส่วนหนึ่ง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ โลกภายนอกเข้าไปอยู่ในสมองเราได้อย่างไรและความรู้ทุกอย่างที่เรารับรู้นั้นเป็นความจริงหรือไม่
ข้อถกเถียงระหว่างโลกแห่งความเป็นจริง และโลกแห่งการรับรู้ มีมาช้านานแล้วตั้งแต่สมัย Plato และ Socratis รวมทั้งสำนักคิดปรัชญาต่างๆ ของกรีกโบราณประมาณ 2,000 กว่าปีมาแล้วตราบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ในปี ค.ศ. 1787 Immanuel Kant ได้เขียนบทความ เรื่อง Critical of Pure Reason กล่าวว่า ความรู้มีสองแบบ คือความรู้ที่มีอยู่แล้ว ในตัวเองโดยมีมาแต่กำเนิดเป็นสัญชาติญาณของมนุษย์ เช่น เด็กทารกสามารถดูดนมได้จากแม่โดยไม่ต้อง สอน เรียกความรู้ประเภทนี้ว่า piori หรือ Pure Knowledge และประเภทที่สองเป็นความรู้ที่ได้จาก ประสบการณ์การเรียนรู้เรียกว่า Posteriori หรือ Empirical Knowledge ส่วนนักปรัชญา เช่น Francis Bacon (1561 – 1626) ปรมาจารย์แห่งสสารนิยมของอังกฤษเห็นว่าความรู้ธรรมชาติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและสามารถอธิบายได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ทุกสิ่งมีอยู่ (Existence) ในธรรมชาติ ขณะที่กลุ่มนักปรัชญาเหตุผลนิยม หรือจิตนิยม เช่น Thomas Hobbes (1588 – 1679) ให้ความสำคัญ แก่จิตว่าเป็นสิ่งมีมาก่อนประสบการณ์ ความรู้เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดโดยฝังอยู่แล้วในจิตใจแต่ยังไม่ปรากฏชัดเจน ต่อเมื่อจิตทำงานกลั่นกรองเป็นที่เรียบร้อยแล้วภาพนั้นจึงปรากฏขึ้น ถึงแม้ว่าแนวความคิดของนักปรัชญาจะแตกต่างกัน แต่สิ่งที่ยอมรับกันได้ระดับหนึ่ง คือมนุษย์รับรู้โลกภายนอกได้จากการรู้สึกสัมผัส (Sensation) คือ การได้เห็น ได้ยิน ได้รู้รส ได้กลิ่น ได้สัมผัส เป็นต้น แต่ปัญหาความรู้ที่เราได้สัมผัสนี้จะยืนยันได้อย่างไรว่าถูกต้อง ดังนั้นจึงเกิดคำถามขึ้นว่า อะไรคือความจริง สิ่งไหนเป็นภาพลวงและสิ่งไหนเป็นจินตนาการ เช่น เราสามารถอธิบายปรากฎการณ์ที่มองเห็น “Mirage” เป็นภาพเงาของน้ำที่ปรากฏบนอากาศเหนือทะเลทรายได้อย่างไร หรืออธิบายปรากฎการณ์ที่เห็นรางรถไฟบรรจบกันเบื้องหน้าได้อย่างไร หรืออธิบายปรากฎการณ์ที่เห็นพระจันทร์เคลื่อนที่ได้อย่างไรเมื่อเห็นเมฆลอยผ่านหน้า หรือพระจันทร์ดวงเดียวกันแต่มีสีไม่เหมือนกันในเวลากลางวันและกลางคืน
ในหลักทางพุทธศาสนากล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องการรับรู้ของคนเราแตกต่างจากแนวความคิดของปรัชญาตะวันตก ตามพุทธปรัชญาไม่ได้กล่าวว่าทุกสรรพสิ่งมีอยู่ (Being) หรือไม่ใช่ความไม่มีอยู่ (Non-being) และทรงวิจารณ์แนวความคิดทั้งสองว่าเป็นความคิดสุดขั้ว จิตและกายแม้แยกจากกันแต่เกื้อกูลกัน กายต้องอาศัยจิตในการควบคุม ในขณะเดียวดันจิตก็ต้องอาศัยกายพักพิง การรับรู้ในพุทธศาสนาเรียกว่า “สัญญา” เป็นการจำได้ หมายรู้ อารมณ์ ดังนั้นสัญญาคือจุดเริ่มต้นของความรู้โดยที่จิตเป็นธรรมชาติรู้อารมณ์ทั้ง 6 คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ การรับรู้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยทวารหรืออายตนะภายใน 6 ประการ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อใดจิตกระทบอารมณ์ที่ผ่านมาทางอายตนะเมื่อนั้นผัสสะเกิดขึ้นและผัสสะนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการรับรู้ ถ้าไม่มีผัสสะการรับรู้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้นในการรับรู้แต่ละครั้งจะต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ อารมณ์ อายตนะภายใน และจิต ผัสสะในที่นี้จะเป็นจุดที่จิตรับข้อมูลจากภายนอก เมื่อจิตรับรู้ อารมณ์แล้ว เวทนาและสัญญาจะเกิดขึ้นตามมา จิตไม่ได้เป็นผู้รับรู้แต่ฝ่ายเดียวแต่ยังคิดปรุงแต่งสิ่งที่รับรู้ด้วย
จิตซึ่งแยกจากกายในพุทธศาสนาจึงมีความสำคัญในการรับรู้ (สัญญา) ต่อสิ่งที่เป็นนามธรรมได้เป็นอย่างดี เช่น กลิ่น เสียง รส รวมทั้งเวลาและพื้นที่ว่างโดยอาศัยอายตนภายใน

ทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์

Einstein เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบวิธีพิสูจน์การย้อนเวลาไปหาอดีตได้โดยเสนอทฤษฎีสัมพันธภาพเกี่ยวกับเวลาไว้ แต่ก่อนที่จะชี้ให้เห็นถึงข้อพิสูจน์นั้นจำเป็นต้องกล่าวถึงความเป็นมาของทฤษฎีสัมพันธภาพก่อน
เนื่องจากคนในสมัยโบราณสังเกตเห็นพฤติกรรมแปลกๆ ของแสงเมื่อเกิดฟ้าแลบครั้งใดก็จะได้ยินเสียงฟ้าร้องติดตามมาด้วย ยิ่งตัวคนอยู่ห่างจากฟ้าแลบเท่าไรก็จะได้ยินเสียงฟ้าร้องช้ามากขึ้นเท่านั้น จึงมีความพยายาม ค้นหาคำตอบว่าแสงและเสียงที่ได้ยินตามมาเดินทางด้วยอัตราความเร็วเท่าไร กาลิเลโอ (Galileo : 1564 – 1642) ได้มีการทดลองโดยเปิดแสงตะเกียงเพื่อคำนวณอัตราความเร็วของแสงจากภูเขาลูกหนึ่ง ไปยังอีกลูกหนึ่ง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนที่ทำการทดลอง เช่น เมอร์เซนต์ (Mersenne: 1588 – 1648) โดยวัดความเร็วของเสียงปืนใหญ่ที่ตั้งอยู่ในระยะที่สามารถได้ยินได้โดยทดลองได้อัตราความเร็วประมาณ 700 ไมล์ต่อชั่วโมง และนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนที่ได้ทดลองวัดความเร็วของแสง เช่นเดียวกัน การทดลองที่น่าสนใจ คือ แบรดลีย์ (Bradley : 1693 – 1762) นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษได้ทำการวัดความเร็วของแสงไว้เมื่อปี ค.ศ. 1727 นับเป็นการเปิดหนทางไปสู่ทฤษฎีแห่งสัมพันธภาพที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป แนวความคิดของแบรดลีย์นี้พิจารณาได้ในทำนองเดียวกับปรากฏการณ์ของสายฝนโดยสมมุติว่าเรานั่งอยู่ในรถขณะฝนตก สายฝนจะตกลงมาในแนวดิ่งแต่ถ้ารถขับเคลื่อนขณะฝนตก สายฝนจะทำมุมเอียงกับรถมากขึ้นตามอัตราความเร็วของรถ ดังนั้นสายฝนจึงสัมพันธ์กับอัตราความเร็วของรถ จากความสัมพันธ์นี้ก็จะได้ความยาวของด้านประกอบมุมฉากของสามเหลี่ยมคำนวนหาอัตราความเร็วของฝนที่ตกลงมาได้และนำไปใช้หาอัตราความเร็วของแสงจนเป็นผลสำเร็จ
แบรดลีย์ได้คำนวณโดยใช้ดาวแกมมาดราโกรนิส (Gamma Draconis) เป็นหลักซึ่งเขาพบว่าในช่วงเวลา 6 เดือน ตำแหน่งของดวงดาวนี้จะเปลี่ยนไปประมาณ 40 วิลิปดา หรือ ประมาณ 1 ในหมื่นของ 90 องศา และจากค่าดังกล่าวเขาสามารถหามุมที่แสงดาวเอียงไปในกล้องโทรทรรศน์จริงๆ ได้ประมาณ 20 วิลิปดาจากแนวดิ่ง เมื่อรู้ค่าของมุมที่เอียงไปแล้วเขาได้สร้างรูปสามเหลี่ยมมุมฉากสำหรับคำนวณหาอัตราความเร็วของแสงในลักษณะเดียวกับหยาดฝน ถึงแม้ว่าการวัดของแบรดลีย์จะได้ค่าที่ไม่ถูกต้องนักแต่ก็เป็นการได้ข้อยุติที่ว่าแสงมีอัตราความเร็วสูงมากถึง 186,000 ไมล์/วินาที เมื่อเทียบอัตราความเร็วของแสงที่ประมาณ 186,000 ไมล์/วินาที หรือ 300,000 กม. / วินาที ดังนั้นใน 1 วินาทีแสงจะสามารถเดินทางได้ระยะเท่ากับเส้นรอบวงของโลก 7 รอบ และใช้เวลาเดินทางจากดวงอาทิตย์มายังโลก 8 นาที (ประมาณ 93 ล้านไมล์) และในระยะเวลา 1 ปี แสงจะเดินทางได้ 6,000,000,000,000 ไมล์
ความสำเร็จในการวัดอัตราความเร็วของแสงนี้ทำให้มีการคิดว่าอะไรคือตัวกลางที่พาคลื่นแสงเดินทาง นักวิทยาศาสตร์จึงตั้งข้อสมมุติฐานให้มีตัวกลางที่เรียกว่า อีเธอร์ส่องสว่าง (Lumeniferous Ether) หรือเรียกสั้นๆ ว่า อีเธอร์
ในปี 1873 เจมส์ แม็กซ์เวลล์ (James Maxwell, 1831 – 1879) พบว่าการสั่นทางไฟฟ้าทำให้เกิดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเดินทางไปในอากาศด้วยความเร็วที่คำนวณได้เท่ากับความเร็วของแสงที่วัดได้ก่อนหน้านั้น ทำให้แม็กเวลล์สันนิษฐานว่าบริเวณที่เรียกว่าสุญญากาศที่เดิมเข้าใจว่าไม่มีอะไรเลยนั้น ต้องมีสสารที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเคลื่อนที่ นักวิทยาศาสตร์อีกหลายคน เช่น ไมเคิลสัน (Albert Michelson: 1852 – 1893) , เมอร์ลีย์ (Edward Morley: 1838 – 1923) ได้พยายามค้นคว้าหาตัวอีเธอร์แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จและสิ่งที่ได้จากการค้นพบของไมเคิลสัน คือ พฤติกรรมของแสงโดยพบว่าความเร็วของแสงจะคงที่ไม่ว่าจะวัดด้วยวิธีแบบใดก็ตามซึ่งปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องประหลาดและยังไม่สามารถอธิบายได้ในขณะนั้นไมเคิลสันได้จินตนาการเกี่ยวกับอีเธอร์ว่า “หากอีเธอร์มีจริงโลกของเราก็กำลังเคลื่อนที่ผ่านไปท่ามกลางกระแสของอีเธอร์เหมือนกับเรานั่งเรือไปในทะเล เรือที่วิ่งผ่านน้ำไปนั้นจะทำให้เกิดกระแสน้ำที่ท้ายเรือ ถ้าเราโยนลูกบอลลงไปที่ท้ายเรือลูกบอลนั้นจะปลิวไปตามแรงน้ำ เช่นเดียวกันเมื่อโลกเคลื่อนที่ผ่านอีเธอร์ก็น่าจะเกิดกระแสอีเธอร์พัด ไปในทิศทางตรงกันข้ามกับทิศทางการเคลื่อนที่ของโลก (เช่น ถ้าโลกเคลื่อนที่ไปทางทิศเหนือ กระแสอีเธอร์ก็จะพัดไปทางทิสใต้) เราจึงน่าจะวัดความผิดปรกตินั้นได้ เหตุผลที่ใช้แสงวัดในขณะนั้นคือแสงจะมีอัตราการเดินทางแน่นอนและคงที่ถ้าเราฉายแสงไปในทิศทางตรงกันข้ามกับการเคลื่อนที่ของโลกอัตราความเร็วของแสงที่วัดได้น่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติทั้งนี้เพราะในสถานการณ์เช่นนั้นความเร็วแสงที่เราวัดเป็นความเร็วแสงที่บวกกับความเร็วของกระแสอีเธอร์นั่นเอง”
เมื่อนักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบไม่พบปรากฏการณ์ที่คาดว่าจะเป็นผลจากการมีอีเธอร์ทำให้พวกเขาหันมาพิจารณาว่ามีอีเธอร์หรือไม่มี ในเรื่องนี้ได้มีคนจำนวนหนึ่งพยายามอธิบายปรากฎการณ์ที่ว่านี้หลากหลายแง่มุม แต่มีบทความหนึ่งที่น่าสนใจเขียนโดย Einstein ในวารสารทางฟิสิกส์ชื่อ Annalen der Physik ตีพิมพ์ในเยอรมันตะวันออกซึ่งขณะนั้นเขามีอายุเพียง 26 ปี ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานสิทธิบัตร ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ Einstein ใช้ทฤษฎีแห่งสัมพันธภาพไปอธิบายความซับซ้อนของปัญหานี้ได้สำเร็จและเป็นการนำโลกไปสู่ยุคอะตอมซึ่งทฤษฎีนี้ได้มีการอธิบายแบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ
1. ทฤษฎีแห่งสัมพันธภาพ (The Special Theory of Relativity) เป็นทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับระบบที่มีความเร็วคงที่เมื่อสัมพัทธ์กับระบบที่ไม่มีความเร่ง
2. ทฤษฎีทั่วไปแห่งสัมพันธภาพ (The General Theory of Relativity) เป็นทฤษฎีที่
เกี่ยวข้องกับระบบที่มีความเร็วไม่คงที่เมื่อสัมพัทธ์กับระบบที่มีความเร่ง
เพื่อความเข้าใจในทฤษฎีดังกล่าวของ Einstein จึงขอยกตัวอย่างโดยใช้รถไฟสองขบวน สมมุติให้จอดขนานกันอยู่ในชานชลาเดียวกันตอนกลางคืนและตัวท่านอยู่บนรถไฟขบวนหนึ่งมองดูรถไฟขบวนที่อยู่ตรงกันข้าม ขณะเดียวกันรถไฟขบวนนั้นกำลังเคลื่อนตัวออก ท่านจะรู้สึกว่าขบวนของท่านกำลังแล่นออกไปจนกระทั่งรถไฟขบวนที่อยู่ตรงกันข้ามแล่นผ่านเลยไปหมดขบวนแล้วท่านจะรู้สึกว่าแท้จริงแล้วรถไฟขบวนของท่านต่างหากที่หยุดนิ่ง ตัวอย่างที่สองสมมุติว่าท่านอยู่ในยานอวกาศลำหนึ่งซึ่งกำลังเดินทาง ออกจากโลกด้วยความเร็ว 5,000 ไมล์ต่อชั่วโมง และมียานอวกาศอีกลำหนึ่งเดินทางออกจากโลกเช่นเดียวกันด้วยความเร็ว 10,000 ไมล์ต่อชั่วโมง ฉะนั้นยานอวกาศที่ไล่ตามท่านจะมีความเร็ว 15,000 ไมล์ต่อชั่วโมงสัมพัทธ์กับโลกและยานอวกาศ
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าถ้าไม่มีสิ่งที่หยุดนิ่งหรือไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นหลักอ้างอิงในการวัดการเคลื่อนที่ก็จะไม่สามารถบอกได้ว่าขบวนรถไฟของท่านหรือยานอวกาศลำใดกำลังเคลื่อนที่ท่านอาจรู้สึกว่ายานอวกาศของท่านกำลังลอยนิ่งอยู่ในความมืดหรือรถไฟของท่านวิ่งด้วยความเร็วท่ามกลางความมืดที่มองอะไรไม่เห็น และในทำนองเดียวกันถ้าจะพูดถึงความเร็วเพียงอย่างเดียวไม่ได้ต้องมีการเคลื่อนที่สัมพันธ์กับอีกสิ่งหนึ่งด้วยเสมอว่าความเร็วนี้สัมพันธ์กับอะไรยกเว้นเมื่อเราพูดถึงความเร็วบนพื้นโลกเรามักไม่พูดว่าสัมพันธ์กับสิ่งใดเพราะเราละไว้ในฐานที่เข้าใจ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดทฤษฎีสัมพันธภาพขึ้นและเท่ากับเป็นการพิสูจน์ทฤษฎีของ Newton ด้วยว่าการเคลื่อนที่สัมบูรณ์นั้นไม่สามารถวัดได้เนื่องจากโลกของเราหมุนรอบตัวเอง ในขณะเดียวกันก็หมุนรอบดวงอาทิตย์ด้วย ระบบสุริยจักรวาลของเราก็เช่นกันที่โคจรภายในกาแล็กซี่และกาแล็กซี่ก็หมุนรอบตัวเองรวมทั้งเคลื่อนที่ สัมพันธ์กับกาแล็กซี่อื่นด้วยเอกภพของเราจึงเต็มไปด้วยการเคลื่อนที่
Einstein ยังอธิบายให้ทราบเกี่ยวกับความเร็วของแสงไว้อีกว่าแสงจะมีค่าคงที่เสมอไม่ว่าจะสัมพันธ์กับอะไร ยกตัวอย่างว่ามีเด็กคนหนึ่งนั่งอยู่บนหลังคารถไฟขบวนหนึ่งที่วิ่งด้วยความเร็ว 15 ไมล์ต่อชั่วโมง เด็กขว้างก้อนหินไปหานกซึ่งเกาะอยู่บนต้นไม้ข้างหน้าในทิศทางเดียวกับรถไฟที่กำลังวิ่งอยู่ด้วยความเร็ว 20 ไมล์ต่อชั่วโมง ความเร็วของก้อนหินที่สัมพันธ์กับเด็กจะเป็น 20 ไมล์ต่อชั่วโมง แต่ความเร็วของรถไฟจะไปเพิ่มให้กับความเร็วของ ก้อนหินทำให้ก้อนหินนั้นเดินทางด้วยความเร็ว 35 ไมล์ต่อชั่วโมงโดยสัมพัทธ์กับพื้นโลก แต่ถ้าเด็กขว้างก้อนหินไปหานกในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับการเคลื่อนที่ของรถไฟด้วยอัตราความเร็วเท่าเดิม ขณะที่ความเร็วของรถไฟยังคงที่ทำให้ความเร็ซของรถไฟไปลดความเร็วของก้อนหินเหลือ 5 ไมล์ต่อชั่วโมงสัมพัทธ์กับพื้นโลกและในทำนองเดียวกันหากแทนค่าของนกเป็นคนบนพื้นโลก ก้อนหินเป็นแสงและรถไฟเป็นดาวฤกษ์ เมื่อโลกและดาวฤกษ์เดินทางเข้าหากันอัตราความเร็วของแสงจากดาวฤกษ์นั้นจะเพิ่มขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าโลกและดาวฤกษ์วิ่งห่างออกจากกันอัตราความเร็วของแสงจากดาวฤกษ์จะลดลง ด้วยเหตุนี้การตรวจสอบหาอีเธอร์จึงไม่เป็นสิ่งสำคัญในทฤษฎีสัมพันธภาพของ Einstein แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีอีเธอร์ อาจจะเป็นเพราะอีเธอร์เป็นสิ่งเดียวที่อยู่นิ่งหรือไม่มีการเคลื่อนที่แท้จริงก็ได้ในเอกภพ

ทฤษฎีเกี่ยวกับเวลาของไอน์สไตน์

ตามแนวความคิดของไอน์สไตน์มีความเชื่อว่าเวลากับความเร็วของแสงมีความสัมพันธ์กัน และไม่ว่าจะวัดความเร็วของแสงด้วยวิธีใดก็ตามก็จะได้ความเร็วคงที่ สาเหตุสำคัญที่เป็นเช่นนี้ Einstein อธิบายว่าเป็นเพราะนาฬิกาที่ใช้วัดนั่นเอง (นาฬิกา หมายถึงระบบเวลาที่ใช้วัด) ถ้าเราเดินทางโดยยานอวกาศออกไปจากโลกจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับระบบเวลาภายในยานอวกาศโดยที่เราไม่รู้สึกตัวเนื่องจากนาฬิกาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามภาวะแวดล้อม ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจำแนกได้เป็นสองกรณีหลักๆ คือ นาฬิกาอาจจะเดินช้าลงหรือเร็วขึ้นแล้วแต่สภาพแวดล้อมจะกำหนดอย่างไร ซึ่งต้องพิจารณาถึงระบบอ้างอิง เนื่องจากระบบอ้างอิงใดๆ ก็ตามเมื่อเคลื่อนที่ นาฬิกาภายในระบบอ้างอิงนั้นจะเดินช้าลงเมื่อเทียบกับนาฬิกาชนิดเดียวกันที่อยู่ในระบอ้างอิงซึ่งหยุดนิ่งอยู่กับที่ (ระบบอ้างอิงนี้หมายถึงอาณาบริเวณที่กฎธรรมชาติดำเนินไปอย่างเสมอเหมือนกัน) นาฬิกาของ Einstein ตามทฤษฎีของเขาหมายถึงนาฬิกาทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นนาฬิกากลไกที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นหรือนาฬิกาธรรมชาติซึ่งจำแนกออกเป็นสองประเภทได้แก่ นาฬิกาชีวภาพ คือการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีที่เกิดขึ้นในพืชและสัตว์ กับนาฬิกากายภาพคือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสิ่งไม่มีชีวิต ยกตัวอย่างเช่นถ้ามียานอวกาศสองลำเดินทางแยกจากกันบนพื้นโลก บนยานอวกาศแต่ละลำมีนาฬิกาที่เดินด้วยความเร็วคงที่วางไว้ที่ยาน A (ระบบอ้างอิงที่ 1) และยาน B (ระบบอ้างอิงที่ 2) คนที่อยู่ในยานแต่ละลำจะเห็นเวลาในยานลำอื่นช้ากว่าของคนเองเพระาแสงที่สะท้อนภาพในอดีตมาให้เราเห็นต้องใช้เวลาเดินทางระยะหนึ่งเช่นเดียวกับทฤษฎี The Twin Paradox ที่สมมุติให้นำฝาแฝดอายุ 10 ขวบสองคนมาเปรียบเทียบโดยให้ฝาแฝด A อยู่บนโลก ส่วนฝาแฝด B เดินทางไปในอวกาศและเดินทางด้วยความเร็วเกือบเท่าแสงประมาณ 299,000 กม./วินาที เมื่อยานอวกาศเดินทางไปและกลับมายังโลกใช้เวลา 2 ปี ของเวลาบนยาน ก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างน่าประหลาดคือ ฝาแฝด B จะมีอายุเพียง 12 ปี ในขณะที่เวลาบนพื้นโลกผ่านไป 200 กว่าปีซึ่งฝาแฝด A ตายไปนานแล้วเพราะแต่ละคนต่างมีระบบเวลาอ้างอิงเป็นของตนเอง ฝาแฝด B เดินทางไปในอวกาศที่ว่างเปล่าด้วยความเร็วเกือบเท่าแสงมีความเร่งใช้ระยะเวลาเดินทางน้อยแต่ได้ระยะไกลมาก ไม่มีเวลาสัมพัทธ์ ขณะที่ฝาแฝด A อยู่บนโลกที่ไม่มีความเร่ง (ไม่มีการเดินทาง) มีเวลาสัมพัทธ์นับได้ 200 ปี จึงแก่เร็วกว่าฝาแฝด B ดังสมาการ

T = ___t____
1 – (v2 / c2)

เมื่อ T = เวลาของระบบอ้างอิงที่เคลื่อนที่
t = เวลาของระบบอ้างอิงที่หยุดนิ่งอยู่กับที่
V = ความเร็วของระบบอ้างอิงที่เราต้องการคำนวณหาเวลานั้น
C = ความเร็วแสง

การอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ Einstein ได้กล่าวถึงระบบอ้างอิงแต่ละระบบที่มีเวลาเป็นของตนเอง ถ้าเราเอาระบบหนึ่งไปวัดอีกระบบหนึ่งก็จะทำให้เกิดความแตกต่างในเรื่องของเวลาตามตัวอย่างที่ยานอวกาศลำที่มีความเร็วใกล้เคียงกับแสงสามารถเดินทางได้ระยะไกลมากด้วยเวลาเพียงชั่วลัดนิ้วมือเดียว ทำให้กระบวนการทางชีวภาพและทางกายภาพของเด็กภายในยานจะมีการเปลี่ยนแปลงช้าลงจนเกือบไม่มีการเปลี่ยนแปลง ตรงกันข้ามกับกระบวนการทางชีวภาพและกายภาพของเด็กบนโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว
แนวความคิดทางพุทธศาสนาก็มีความเชื่อว่าภายในดินแดนต่างๆ ในเอกภพนี้จะมีระบบเวลาเป็นของตนเองแยกกันเด็ดขาด เช่น ระบบเวลาในพรหมโลกกับระบบเวลาของโลกมนุษย์ก็ย่อมจะมีความแตกต่างกัน ถ้าเราใช้ระบบเวลาในโลกมนุษย์ไปวัดระบบเวลาาในพรหมโลกก็จะเห็นว่าเดินช้ามากแต่ในพรหมโลกความรู้สึกเรื่องเวลาจะเป็นปกติ เช่นเดียวกันถ้าใช้ระบบเวลาในพรหมโลกไปวัดระบบเวลาของโลกมนุษย์ก็จะเห็นว่าเวลาเดินเร็วมากแต่ในโลกมนุษย์ความรู้สึกเรื่องเวลาจะเป็นปกติ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายต่างคิดว่าเวลาในระบบอ้างอิงของตนเองเป็นปกติ แต่เวลาในระบบอ้างอิงของคนอื่นผิดปกติซึ่งเรื่องนี้ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าฝ่ายใดผิดปกติ หรือฝ่ายใดเป็นปกติ แล้วแต่ว่าจะมองจากมุมใด

ความสัมพันธ์ของวัตถุกับความเร็วของแสง

ทฤษฎีสัมพันธภาพของ Einstein จึงเสนอว่ามนุษย์จะสามารถมองเห็นอดีตของตนเองได้เพราะปรากฎการณ์ในอดีตทุกอย่างของมนุษย์จะอยู่ในรูปของคลื่นแสงในอวกาศเหมือนกับที่เรามองเห็นแสงจากดวงดาวอื่นในท้องฟ้าที่อยู่ห่างไกลจากโลกหลายร้อยปีแสง ดังนั้นถ้าหากเรามียานอวกาศที่สามารถเดินทางได้เร็วกว่าแสงวิ่งไปข้างหน้าตามแสงนั้นเราก็สามารถเห็นอดีตของเราหรือของใครก็ได้ที่เป็นคลื่นแสงอยู่ในอวกาศ อย่างไรก็ตาม Einstein ได้เสนอประเด็นต่อไปเกี่ยวกับอัตราความเร็วของแสงว่าไม่มีวัตถุใดสามารถเคลื่อนที่ได้เร็วเท่าแสง ถ้าจะมีวัตถุใดๆ ก็ตามที่สามารถเคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่ใกล้เคียงกับแสงตามทางยาวแล้วความยาวของวัถุนั้นจะหดสั้นลงเรื่อยๆ จนกระทั่งสลายกลายเป็นพลังงานไปจนหมดมีค่าเป็น ศูนย์ หายไปกับตา ภาพทุกสิ่งทุกอย่างจะหยุดนิ่งและถ้าวัตถุนั้นมีนาฬิกาติดไปด้วยนาฬิกานั้นก็จะหยุดเดิน แต่ถ้าเร่งความเร็วให้มากกว่าแสงก็จะปรากฎภาพในอดีตย้อนกลับและถ้าไปดักข้างหน้าแสงนั้นภาพในอดีตก็จะปรากฎฉายเป็นภาพเคลื่อนไหวขึ้น ทฤษฎีสัมพัทธภาพจึงเปิดเผยให้เราเห็นถึงกฎพื้นฐานของธรรมชาติว่าความเร็วของแสงเป็นความเร็วที่สูงที่สุดในเอกภพไม่มีวัตถุใดเดินทางได้เร็วเท่าแสง การเดินทางให้เร็วเท่าแสงจึงทำไม่ได้เป็นเพียงจินตนาการเท่านั้น แต่ในแนวคิดของพุทธศาสนาได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ก่อนทฤษฎีของ Einstein เป็นเวลาสองพันกว่าปีแล้ว

ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์กับหลักพุทธศาสนา

กระบวนทัศน์ใหม่ทางวิทยาศาสตร์เปรียบได้เช่นเดียวกับหลักของพุทธปรัชญาที่อธิบายทฤษฎีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจนมาแล้วหลายทฤษฎี เช่น ทฤษฎีควอนตัม ทฤษฎีจัดโครงสร้างตัวเอง ทฤษฎีระบบ โดยเฉพาะทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตนที่อธิบายความเป็นหนึ่งของสรรพสิ่งที่กระจัดกระจายเป็นส่วนๆ ในจักรวาล การวิวัฒนาการที่พึ่งพาอาศัยกันและการทำลายตัวเอง เป็นวัฏจักรต่อเนื่องไม่รู้จบ เช่นเดียวกับเรื่องของ อสังขตธรรม ในพุทธศาสนาซึ่งเน้นสิ่งที่ไม่ปรุงแต่งหมายถึง นิพพาน ที่เป็นความว่างเปล่า เป็นสุญตา ส่วนปฎิจจสมุปบาทเป็นการอธิบายการเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายที่ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน หรืออธิบายกฎแห่งธรรมฃาติ นั่นคือ กฎแห่งกรรมที่เป็นที่รวมเหตุแห่งปัจจัย (karma action) ผลกรรม (karma result) และแรงที่กระทำจากภายใน หรือพลวัตที่กำหนดการเคลื่อนไหวโยงใยกรรมนั้น
ในประเด็นพื้นที่ว่าง (space) หรือสุญตา พุทธปรัชญาได้อธิบายในปฎิจจสมุปบาทไว้ว่า คือ ความว่างเปล่าที่ไม่ใช่ความว่างเปล่าที่ไม่มีอะไรเลยแต่เป็นความไร้ตัวตนไร้รูปที่โลกรู้จักเมื่อไร้รูปกายก็ย่อม ไร้เวทนา อุปาทาน การปรุงแต่งกิเลสทั้งหลาย เบญจขันธ์ก็ไม่เกิด เมื่อไม่เกิดก็ไม่มีการแตกดับและนั่นคือ ความหมาย นิพพาน สุญตาจึงเปรียบเหมือนกับครรภ์แห่งสัจธรรม (นิพพานัง ปรมัง สุญญัง) เปรียบเทียบได้กับหลักปรัชญาของนิวตันและ Einstein ในเรื่อง พื้นที่สมบูรณ์ อันเป็นความว่างเปล่าที่ไม่สัมพันธ์กับทุกสิ่งทุกอย่าง อยู่ในภาวะว่างเปล่าหยุดนิ่ง นอกจากนั้น นีลล์ บอห์ร์ (Neils Bohr) นักฟิสิคส์ที่มีวิวาทะกับไอน์สไตน์จนได้รับการยกย่องว่าสามารถเอาชนะความคิดของ Einstein ที่ว่าโลกและจักรวาลในรูปทางกายภาพที่เรารู้จักมีขึ้นได้เพราะมนุษย์เราอาศัยประสาทสัมผัสของมนุษย์ขึ้นเองโดยเอาเข้าไปตั้งกฎหรือมีการตรวจสอบโดยใช้อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ใดๆ นั่นคือเพราะมีมนุษย์จึงมีสรรพสิ่งทั้งหลายที่เรารู้จักเช่น มีโลภ มีจักรวาลในรูปร่างที่เราเห็นเพราะเราต้องการให้เห็น และต้องการให้มีรูปร่างอย่างใดอย่างหนึ่ง
ความว่างเปล่าในทฤษฎีควอนตัมเป็นความว่างเปล่าโดยแท้ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ไม่มีเทหวัตถุหรือรูปกายที่เรารู้จักแต่เป็นคลื่นอนุภาคและสนามพลัง ซึ่ง ฟริทจอฟ คาปรา (Fritjof capra) ได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง The tao of physics ว่าจิตวิญญาณจะกลายเป็นด้านที่สำคัญที่สุดของจักรวาลและในที่สุดจะเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีทางฟิสิกค์ในอนาคต

การเดินทางด้วยจิตในทางศาสนาพุทธ

ในแนวปฏิบัติทางศาสนาพุทธซึ่งได้รับการนับถือมานานเป็นเวลาสองพันกว่าปีในเรื่อง อำนาจของจิตที่แยกจากกายมีสภาวะเป็นศูนย์สามารถเดินทางได้รวดเร็วกว่าแสงเช่นเดียวกับทฤษฎีสัมพันธภาพของ EInstein และสามารถกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างได้ แต่ต้องอาศัยแนวปฏิบัติด้วยความเพียรจึงสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งหมายถึงจะต้อง มีการฝึกจิตให้มีพลังความสามารถโดยใช้วิธีฝึกด้านสมาธิ เมื่อได้ระดับแล้วจะอยู่ในสภาพที่เรียกว่า ฌาน ตามรูปศัพท์ แปลว่า การเพ่งพินิจด้วยจิตที่เป็นสมาธิแน่วแน่ ซึ่งพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต) ได้อธิบายไว้ชัดเจน ในหนังสือ สมาธิ: ฐานสู่สุขภาพจิตและปัญญาหยั่งรู้ และ ฌาน โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 2 ระดับใหญ่ๆ และ แบ่งย่อยออกไปอีกระดับละ 4 ชั้น รวมเป็น 8 ชั้น เรียกว่า ฌาน โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 2 ระดับใหญ่ๆ และแบ่งแยกออกไปอีกระดับละ 4 ชั้นรวมเป็น 8 ชั้น เรียกว่า ฌาน 8 หรือ สมาบัติ 8 คือ

1. รูปฌาน 4 ได้แก่
- ปฐมฌาน (ฌานที่ 1 ) มีองค์ประกอบทางอารมณ์ของฌาน 5 ประการ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และ
เอกัตตา
- ทุติยฌาน (ฌานที่ 2 ) มีองค์ประกอบทางอารมณ์ของฌาน 3 ประการ คือ ปีติ สุข และเอกัตตา
- ตติยฌาน (ฌานที่ 3 ) มีองค์ประกอบทางอารมณ์ของฌาน 2 ประการ คือ สุข และเอกัตตาร
- จตุตถฌาน (ฌานที่ 4 ) มีองค์ประกอบทางอารมณ์ของฌาน 2 ประการ คือ เอกัตตาและ อุเบกขา
2. อรูปฌาน 4 ได้แก่
- อากาสานัญจายตนะ หมายถึง ฌานที่กำหนดอากาศอันอนันต์
- วิญญาณัญจายตนะ หมายถึง ฌานที่กำหนดวิญญานอันอนันต์
- อากิญจัญญายตนะ หมายถึง ฌานที่กำหนดภาวะที่ไม่มีสิ่งใดๆ
- นวสัญญานาสัญญายตนะ หมายถึง ฌานที่เลิกกำหนดสิ่งใดๆ โดยประการทั้งปวงเข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่”
ในการสอนถึงวิธีปฏิบัติตามหลักของศาสนาพุทธที่จะให้บรรลุฌานแต่ละขั้นได้จะต้องอาศัยความเพียรฝึกฝนในการปฏิบัติซึ่งจะต้องใช้วิธีการปฏิบัติทาง “สมาธิ” หมายถึง ความตั้งมั่น หรือภาวะที่จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนด คำจำกัดความของสมาธิทีพบเสมอ คือ “จิตตัสเสกัคคตา” หรือเรียกว่า “เอกัคคตา” แปลว่า ภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ การที่จิตกำหนดแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่านออกไป เอกัคคตา มาจาก เอก + อัคค + ตา (ภาวะ) คำว่าภาวะในที่นี้แปลว่า อารมณ์ แต่ความหมายเดิม แท้ๆ คือ จุดยอด หรือ จุดปลาย ฉะนั้นโดยนัยนี้ จิตที่เป็นสมาธิก็คือ จิตที่มียอด หรือมีจุดปลายเดียวซึ่งย่อมมีลักษณะแหลมพุ่งแทงทะลุสิ่งต่างๆ ไปได้ง่าย

“ระดับของสมาธินั้นในขั้นอรรถกถายังจัดแยกระดับของสมาธิออกเป็น 3 ระดับ คือ
1. ขณิกสมาธิ หมายถึง สมาธิชั่วขณะ (Momentary Concentration) เป็นสมาธิขั้นต้น ซึ่งคนทั่วไปอาจจะใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่การงานในชีวิตประจำวันให้ได้ผลดีและจะใช้เป็นจุดตั้งต้นในการเจริญวิปัสสนาได้
2. อุปจารสมาธิ หมายถึง สมาธิเฉียดๆ หรือจวนจะแน่วแน่ (Access Concentration) เป็นสมาธิขั้นระงับนิวรณ์ได้ ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะแห่งฌาน หรือสมาธิขั้นบุพภาคแห่งอัปปนาสมาธิ
3. อัปปนาสมาธิ หมายถึง สมาธิแน่วแน่ หรือ สมาธิที่แนบสนิท (Attainment Concentration) เป็นสมาธิระดับสุงสุด ซึ่งมีฌาน ถือว่าเป็นผลสำเร็จที่ต้องการของการเจริญสมาธิ
สมาธิอย่างที่สองและสามมีกล่าวถึงบ่อยๆ ในคำอธิบายเกี่ยวกับการเจริญกรรมฐาน และมีที่กำหนดค่อนข้างชัดเจน คือ อุปจารสมาธิเป็นสมาธิเมื่อจิตตั้งมั่นโดยละนิวรณ์ทั้ง 5 ได้ ถ้ามองในแง่การกำหนดอารมณ์กรรมฐานจะเป็นช่วงที่เกิดปฏิภาคนิมิต (ภาพที่มองเห็นในใจของสิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐานซึ่งประณีตลึกซึ้งเลยจากขั้นที่เป็นภาพติดตาไปอีกขั้นหนึ่งเป็นสิ่งที่เกิดจากสัญญาบริสุทธิ์ ปราศจากสีมลทินสามารถนึกขยายหรือย่อส่วนได้ตามปรารถนา เป็นสมาธิจวนเจียนจะแน่วแน่โดยสมบูรณ์ใกล้จะถึงฌานเมื่อผู้ฝึก ฝึกได้จนชำนาญดีแล้วก็จะแน่วแน่กลายเป็นอัปปนาสมาธิอันเป็นองค์แห่งฌานต่อไป”
วิธีการที่เน้นการใช้สมาธิมีบทบาทที่สำคัญ คือ การบำเพ็ญสมาธิที่ทำให้จิตใจสงบแน่วแน่จนเข้าถึงสภาวะที่เรียกว่าฌาน หรือสมาบัติในชั้นต่างๆ ซึ่งก็จะได้ผลที่เกิดจากสมาบัติด้วย โดยเฉพาะที่เรียกว่า “อภิญญา มี 6 ประการ คือ
1. อิทธิวิธี คือ สามารถแสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ (Magical Power)
2. ทิพยโสต คือ มีหูทิพย์ (Clairaudience หรือ Divine ear)
3. เจโตปริยญาณ คือ การสามารถกำหนดใจ หรือ ความคิดผู้อื่นได้ (Telepathy หรือ Mind
Reading)
4. ทิพยจักษุ หรือ จุตูปปาตญาณ คือ มีตาทิพย์ หรือ สามารถรู้การจุติและการอุบัติของ
สัตว์ทั้งหลายตามกรรมของตน (Divine Eye หรือ Clairvoyance หรือ Knowledge of the decease and rebirths of beings)
5. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ การระลึกชาติได้ (Reminiscence of Previous Lives)
6. อาสวักขยญาณ คือ การมีญาณหยั่งรู้ความสิ้นอาสวะ (Knowledge of the extinction of all biases)”

ประโยชน์ที่ได้จากการทำสมาธิ พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต) ได้กล่าวไว้ว่า นอกจากประโยชน์ที่เป็นจุดหมายหรือ อุดมคติทางศาสนาและประโยชน์ด้านสุขภาพจิตการพัฒนาบุคคลิกภาพแล้ว ยังเป็นประโยชน์ในด้านการสร้างความสามารถพิเศษเหนือสามัญวิสัยที่เป็นผลสำเร็จอย่างสูงในทางจิต หรือ เรียกสั้นๆ ว่าประโยชน์ในด้าน อภิญญา ได้แก่การใช้สมาธิระดับญาณสมาบัติเป็นฐานทำให้เกิดฤทธิ์และอภิญญาชั้นโลกียะอย่างๆ อื่น คือ หูทิพย์ ตาทิพย์ ทายใจคนอื่นๆ ได้ ระลึกชาติได้ ที่ปัจจุบันเรียกว่า ESP (Extrasensory Perception) ฌานจึงต้องใช้ความเพียรอย่างสูง ปฏิบัติหลายขั้นตอน ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเพื่อ พัฒนาจิตซึ่งเป็นพลังงานให้เป็นหนึ่งเดียวจนเกิดฌานสมาบัติ หรืออภิญญาสามารถพุ่งแทงทะลุสิ่งต่างๆ ไปได้ง่าย สามารถเดินทางได้รวดเร็วเพียงลัดนิ้วมือเดียว (ตามบัญญัติในพระสุตตันปิฎก เอกนิบาต หมวดว่าด้วยผลแห่งจิตชั่วลัดนิ้วมือเดียว) มองเห็นและหยั่งรู้ในสิ่งต่างๆ เหนือสามัญวิสัยซึ่งเป็นคำอธิบายตามหลักพุทธปรัชญาเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว เปรียบเทียบกับทฤษฎีสัมพันธภาพของ Einstein ที่ยอมรับในปัจจุบัน เมื่อจิตอยู่ในสภาวะเป็นศูนย์เป็นพลังงานหากผ่านการเพียรสมาธิแล้วย่อมเดินทางได้เท่าแสง หรือ มากกว่า สามารถ หยุดเวลา ย้อนเวลา หรือเห็นอนาคตของตนเองได้โดยเดินทางไปข้างหน้าดักรอแสงที่จะสะท้อนภาพในอดีตของเรา (Forward to the past) หรือเดินทางย้อนแสงกลับไปดูภาพในอนาคต (Back to the future) ของใครก็ได้
อาจกล่าวได้ว่าวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์พุทธปรัชญาเสมอมาจนในที่สุดมาหยุดลงที่ทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์ที่ไม่มีวัตถุใดสามารถเคลื่อนที่ได้รวดเร็วกว่าแสงในเอกภพ แต่พุทธปรัชญาได้กล่าวล่วงหน้าเลยไปถึงจิตที่สามารถเดินทางได้รวดเร็วกว่าแสงเพียงลัดนิ้วมือเดียว ไบรอัน โจเซฟสัน (Brian Josephson) นักฟิสิคส์รางวัลโนเบลอีกผู้หนึ่งที่พูดว่าเวลาอีกไม่นาน เรื่องของพระเจ้า เทวดา และวิญญาณ จะกลายเป็นเรื่องเดียวกันในทางวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ซึ่งกำลังรอการพิสูจน์ต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม ในทางพุทธศาสนาที่แท้จริงมิได้มุ่งในเรื่องฌาน หรือนิมิต แต่มุ่งเน้นที่ปัญญาโดยมีสาระสำคัญว่า “การใช้สมาธิ เป็นวิธีการเพื่อจุดหมายในการทำให้หลุดพ้น เป็นไปเพื่อปัญญา ที่รู้ ที่เข้าใจ สิ่งทั้งหลาย ตามที่เป็นจริง มิใช่เพื่อเป็นผลในทางสนองความอยากของตน เช่น จะอวดฤทธิ์อวดความสามารถ เป็นต้น”
แนวความคิดเกี่ยวกับการย้อนเวลาไปสู่อดีตและการทวนกระแสเวลาไปสู่อนาคตในภาพยนตร์ดังเช่นเรื่อง Back to the Future ก็ดีเป็นคุณค่าทางสติปัญญา (Intellectual Value) ซึ่งเป็นคุณค่าสูงสุดของสุนทรียภาพ ที่มีพื้นฐานของความคิดที่ดูเหมือนเลื่อนลอย หากแต่อยู่ภายใต้เหตุผลทั้งวิทยาศาสตร์และศาสนา จึงนับเป็นการเข้าถึงสุนทรียภาพอีกหนทางหนึ่งของภาพยนตร์.




บรรณานุกรม

ภาษาไทย
เดือน คำดี, ดร.พุทธปรัชญา. กรุงเทพฯ:โอเดียนสโตร์, 2534.
บรรจบ บรรณรุจิ. จิต มโน วิญญาน. กรุงเทพฯ: ธรรมสภา, 2537.
ประสาน ต่างใจ, นพ. ธรรมวิทยาศาสตร์. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2538.
ประสาน ต่างใจ, นพ. เอกภพของชีวิตกับจักรวาล. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ๋ มหาวิทยาลัย , 2541.
สุนทร ณ รังษี, ศาสตราจารย์ ดร.พุทธปรัชญาจากพระไตรปิฎก. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541.
พระเมธีธรรมาภรณ์ (ประยูร ธมมจิตโต). พระพุทธศาสนากับปรัชญา. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้งกรุ๊ป จำกัด, 2533.
พระธรรมปิฏก (ประยุทธ์ ปยุตโต). สมาธิ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ พิมพ์สยาม, 2540
สมภาร พรมทา, ดร. คือความว่างเปล่า. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พุทธชาด, 2539.
สมภาร พรมทา, ดร. พุทธปรัชญา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พุทธชาต, 2542.
สมภาร พรมทา, ดร. ความเร้นลับของเวลา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พุทธชาด,2536.
สมภาร พรมทา, ดร. มนุษย์กับการแสวงหา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พุทธชาด,2538.
สุรพงษ์ โสธนะเสถียร, รองศาสตราจารย์ ดร. วิทยปรัชญา. กรุงเทพฯ: ประสิทธิ์ภัณฑ์ แอนด์ พริ้นติ้ง, 2541.
สุวิทย์ ชวเดช. ทฤษฎีสัมพันธภาพ (แปล). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมิต, 2541.

ภาษาอังกฤษ
Capra,Fritjof. The Web of Life, London: Flamingo, 1996.
Capra,Fritjof. The Tao of Physics. London: Flamingo, 1974.
Rock,Irvin. An Introduction to Perception. New York: Macmillan Publishing Co., Inc., 1975.
Schiffman,Harvey Richard. Sensation and Perception. New York: John Wiley & Son, Inc.,1996.
Zusne, Leonard. Visual Perception of Form. New York: Academic Press, 1970.